เว็บไซต์ cnet.com รายงานเมื่อ ๑๑ ม.ค. ๖๔ แนะนำการใช้งาน VPN (Virtual Private Network) ซึ่งเป็นใช้บริการเครือข่ายส่วนตัวที่จำลองขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถท่องเว็บผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ระบุตัวตน เนื่องจากข้อมูลที่ส่งออกจากอุปกรณ์ของผู้ใช้จะได้รับการเข้ารหัส เช่น หมายเลขไอพีที่แท้จริง (IP address) อีเมล รหัสผ่าน หรือชื่อเว็บไซต์ที่เข้าชม ทำให้ข้อมูลการท่องเว็บและข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย ซึ่งแม้แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ก็ไม่สามารถมองเห็นได้
การใช้ VPN มีประโยชน์มาก เนื่องจากช่วยลดโอกาสในการถูกติดตามในโลกออนไลน์ และเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลเวลาใช้งานเครือข่าย WiFi สาธารณะ ซึ่งมีผู้ร่วมใช้งานหลากหลาย และอาจมีแฮกเกอร์แฝงตัวคอยดักรับข้อมูลที่รับส่งอยู่บนเครือข่าย
VPN มี ๓ ประเภท คือ
๑) VPN ในอุปกรณ์เราเตอร์ (Router) ซึ่งมีความสามารถสร้าง VPN เพื่อใช้งานส่วนตัว มักใช้กันในองค์กร เช่น พนักงานที่ทำงานจากบ้านสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายในสำนักงาน เช่น การพิมพ์เอกสารผ่าน Printer ของสำนักงาน
๒) แอปพลิเคชัน VPN สำหรับติดตั้งบนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โทรศัพท์ อาทิ ExpressVPN หรือ NordVPN (เสียค่าใข้จ่าย) ซึ่งจะทำหน้าที่เข้ารหัสข้อมูลการสื่อสารทั้งหมดของอุปกรณ์ มีจุดเด่นที่ความปลอดภัยของข้อมูลสูง เนื่องจากจะมีการเข้ารหัสข้อมูลการท่องเว็บทุกอย่างก่อนปล่อยสู่อินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ให้บริการ VPN หลายเจ้าก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น มีประเทศของหมายเลขไอพีให้เลือกมากกว่า มีนโยบายไม่เก็บข้อมูลการใช้งาน แต่มีข้อด้อย คือ ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะช้าลงเนื่องจากต้องส่งข้อมูลข้ามประเทศไปยังผู้ให้บริการ VPN (แล้วแต่ประเทศที่เลือก)
๓) Brower-based Proxy services and VPN - คือ VPN ที่เป็นส่วนหนึ่งของเว็บบราวเซอร์ VPN ประเภทนี้ความจริงคือ Proxy Server แต่เว็บบราวเซอร์บางเจ้าโฆษณาว่าเป็น VPN เพื่อให้รู้สึกถึงความปลอดภัย มีจุดเด่น คือ ตั้งค่าง่าย ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดไม่มาก รองรับการทำงานร่วมกับเว็บบราวเซอร์ส่วนใหญ่ ผู้ใช้งานเพียงแค่ใส่หมายเลขไอพีของ Proxy server ก็ใช้งานได้แล้ว แต่มีความปลอดภัยน้อยกว่า VPN แบบที่ ๑ และ ๒ เนื่องจาก Proxy-based VPN ปิดบังเฉพาะหมายเลขไอพีแท้จริงเท่านั้น ไม่ได้เข้ารหัสข้อมูลที่เกิดขึ้นขณะท่องเว็บแต่อย่างใด โดย Proxy มีหลักการทำงาน คือ เมื่อผู้ใช้เข้าเว็บไซต์แห่งหนึ่ง Proxy server จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยรับส่งข้อมูลระหว่างอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้ จากนั้นตัวกลางจะเข้าไปดึงข้อมูลเว็บไซต์ที่ผู้ใช้ต้องการ แล้วส่งต่อให้ผู้ใช้งาน ดังนั้น เว็บไซต์ปลายทางจึงไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงของผู้ใช้งาน
VPN แบบเป็นส่วนหนึ่งของเว็บบราวเซอร์ที่น่าสนใจมีดังนี้
๑. เว็บบราวเซอร์ Brave เป็นเว็บบราวเซอร์ใหม่ซึ่งให้บริการ Firewall และ VPN แบบเต็มรูปแบบ (เป็นบริการแบบเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ ๑๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือปีละ ๑๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุปกรณ์ iPhone และ iPad เท่านั้น)
๒. เว็บบราวเซอร์ Firefox Private Network ให้บริการ proxy service แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแม้ไม่ใช่การเข้ารหัสข้อมูลแบบเต็มรูปแบบ แต่ก็ช่วยปกป้องข้อมูลขณะใช้บริการ WiFi สาธารณะ
๓. เว็บบราวเซอร์ Google Chrome ต้องติดตั้ง extension เพิ่มเติมเพื่อติดตั้ง VPN ซึ่งสามารถปรับแต่งการปกป้องข้อมูลได้ไม่มากนัก อาทิ ปรับแต่งประเทศที่ใช้งาน หรือใช้บริการ Google One ซึ่งเสียค่าบริการปีละ ๑๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ที่นำเสนอบริการหลายรูปแบบจาก Google ซึ่งรวมบริการ VPN ไว้ด้วย