ก่อนจะมาเป็น "สำนักข่าวกรองแห่งชาติ"


ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยจัดตั้งและพัฒนาองค์การข่าวกรองอย่างจริงจังต่อเนื่องภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง โดยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดหน่วยงานด้านการข่าวกรองระดับชาติของไทยคือภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ที่เป็นแกนนำต่อสู้ ด้านประชาธิปไตย มองว่าไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ Southeast Asia Mainland ที่เหมาะสมสำหรับต่อต้านคอมมิวนิสต์ สถานการณ์ระหว่างประเทศขณะนั้นจึงกดดันให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อรองรับการที่สหรัฐฯ สนับสนุนให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

ไทยจึงได้จัดตั้งหน่วยงานข่าวกรองระดับชาติ อันเป็นที่มาของการตั้ง “กรมประมวลราชการแผ่นดิน” ขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมประมวลราชการแผ่นดิน ทบวงคณะรัฐมนตรีผ่ายการเมืองในสำนักคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๔๙๗ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดินคนแรก โดยนำตำรวจสันติบาลและแกนนำเสรีไทยสายสหรัฐฯ มาดำรงตำแหน่งสำคัญ .

กรมประมวลข่าวกลาง


กรมประมวลราชการแผ่นดินดำเนินงานมาจนถึงปี ๒๕๐๒ รัฐบาลไทยเปลี่ยนชื่อกรมประมวลราชการแผ่นดินเป็น “กรมประมวลข่าวกลาง” เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ซึ่งกรมนี้ปฏิบัติอยู่ โดยตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๐๒ ระบุอำนาจหน้าที่ของกรมประมวลข่าวกลางว่าบรรดาอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกรมประมวลราชการแผ่นดินซึ่งมีอยู่ และซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับบัญชากรมประมวลราชการแผ่นดินหรือนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่อยู่นั้น ให้โอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของ กรมประมวลข่าวกลาง และยังระบุเพิ่มเติมให้เป็นหน่วยปฏิบัติงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะที่ปรึกษาการข่าว โดยการบริหารและธุรการยังขึ้นกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี .

มารู้จัก "สำนักข่าวกรองแห่งชาติ"


ไทยจัดตั้งหน่วยงานข่าวกรองในระดับชาติมีลักษณะคล้ายกับสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency – CIA) โดยรูปแบบองค์ข่าวกรองของสหรัฐฯ คือแยกระหว่างหน่วยข่าวในประเทศและต่างประเทศ แต่ของไทยมีลักษณะพิเศษ คือ รวมหน่วยข่าวกรองต่างประเทศและหน่วยต่อต้านข่าวกรองต่างประเทศไว้ในองค์กรเดียวกัน.

หน่วยงานของเรา


หลังจากหน่วยราชการของไทยหลายหน่วยปรับปรุงและขยายตัว กรมประมวลข่าวกลางจึงมีแนวความคิดปรับปรุงร่างกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดและหลักการในการจัดตั้งองค์กรระดับชาติ ที่จะกำหนดให้หน่วยงานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีขึ้นโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของกรมประมวลข่าวกลางที่มีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งสมควรยกฐานะเป็นหน่วยข่าวกรองระดับชาติ (National Intelligence) ไม่ใช่หน่วยข่าวระดับกรม (Department Intelligence) อีกทั้งเพื่อทำงาน ข่าวกรองระดับยุทธศาสตร์มากกว่ายุทธวิธี และเป็นองค์กรรักษาความปลอดภัยแห่งชาติฝ่ายพลเรือนด้วย รัฐบาลไทยจึงประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อ ๒๐ ส.ค. ๒๕๒๘ และเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.)” ตั้งแต่ ๓๐ ส.ค. ๒๕๒๘ .

ภารกิจของเรา


สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีภารกิจ อำนาจ และหน้าที่ โดยสรุปครอบคลุม ๔ ด้าน ได้แก่

1) กิจการข่าวกรองทั้งภายในและต่างประเทศ
2) การต่อต้านข่าวกรองทั้งภายในและต่างประเทศ
3) ข่าวกรองทางการสื่อสาร เทคนิค และเครือข่าย
4) การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ประสานกิจการข่าวกรองของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาล สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง.