สถานการณ์ไซเบอร์

Cybersecurity

แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
ไม่มีไฟล์แนบ

ออสเตรเลียเตรียมจับกุมอาชญากรระลอกสอง จากการดักข้อมูลโทรศัพท์เข้ารหัส Anom

เว็บไซต์ vice.com รายงานเมื่อ ๙ ธ.ค. ๖๔ อ้างประกาศของตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (Australian Federal Police: AFP) ระบุว่าขณะนี้ AFP กำลังเข้าสู่ระยะที่สองของการจับกุมที่เกี่ยวข้องกับ Anom ซึ่งเป็นโทรศัพท์เข้ารหัสพิเศษสำหรับกลุ่มอาชญากรทั่วโลกซึ่งถูก AFP และ FBI ของสหรัฐฯ แทรกซึม  โดยระบุตัวเป้าหมายไว้ถึง ๑๖๐ เป้าหมาย

นายไนเจล ไรอัน ผู้ช่วยกรรมาธิการด้านอาชญากรรมของ AFP ระบุในประกาศดังกล่าวว่า “อีกไม่นาน AFP จะสามารถจับกุมอาชญากรที่เคยใช้โทรศัพท์ Anom อีกกลุ่มหนึ่งได้เพิ่มเติม แม้ว่าอาชญากรกลุ่มดังกล่าวได้ทุบหรือเผาอุปกรณ์ AN0M ไปแล้ว” ซึ่งการทำลายอุปกรณ์ Anom ไม่ได้ช่วยผู้ใช้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากร เนื่องจากทางการจะมีสำเนาข้อความของผู้ใช้แต่ละรายอยู่แล้ว สืบเนื่องจากเมื่อปี ๒๕๖๑ อดีตผู้จัดจำหน่ายของบริษัทโทรศัพท์เข้ารหัสชื่อ Phantom Secure กำลังพัฒนา Anom เป็นอุปกรณ์เข้ารหัสรุ่นต่อไป พวกเขาเสนอ Anom ให้ FBI เพื่อใช้ในการสืบสวนอาชญากรรม โดยผู้ให้ข้อมูลแก่ FBI และ AFP และตำรวจออสเตรเลียได้เพิ่มมาสเตอร์คีย์ที่สามารถใช้ถอดรหัสข้อความที่ส่งโดยผู้ใช้ Anom ทุกคนแบบเรียลไทม์ ซึ่งต่อมากลุ่มอาชญากรทั่วโลกได้นิยมใช้โทรศัพท์ Anom กว่า ๑๑,๘๐๐ เครื่องทั่วโลก

ข้อความ Anom ที่รวบรวมได้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทคนิคการก่ออาชญากรรมของกลุ่มอาชญากร เช่น การใช้ทีมดำน้ำเพื่อติดหรือดึงยาจากเรือบรรทุกสินค้า โดยใช้สกู๊ตเตอร์ใต้น้ำเพื่อเคลื่อนที่ไปมาได้เร็วขึ้น หรือบางแห่งใช้บริการจัดการขยะเพื่อเก็บยาที่ซ่อนอยู่ในถังขยะที่ท่าเรือ

AFP ยังให้ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับ Anom โดยระบุว่าผู้ค้าส่งอุปกรณ์ Anom เป็นอาชญากรระดับกลางถึงระดับสูง ซึ่งได้สิทธิ์จำหน่ายอุปกรณ์นี้ในบางประเทศ

AFP เสริมว่า “อาชญากรได้ย้ายไปยังอุปกรณ์เข้ารหัสอื่นๆ มีแนวโน้มว่าองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่บางแห่งจะพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารที่เข้ารหัสและเครือข่ายส่วนตัวของตัวเองภายในสามปีข้างหน้า”