สถานการณ์ไซเบอร์

Surveillance

แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
ไม่มีไฟล์แนบ

การรับจ้างสอดแนมยังเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

เว็บไซต์ technologyreview.com รายงานเมื่อ ๒๘ ธ.ค. ๖๔ ว่า อุตสากรรมการรับจ้างเจาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อสอดแนมหรือขโมยข้อมูลกำลังเติบโตอย่างมากและยากที่จะยับยั้งธุรกิจนี้ได้แม้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดจากภาคสังคม

บริษัท NSO Group ของอิสราเอล เป็นบริษัทจำหน่ายซอฟต์แวร์เจาะระบบคอมพิวเตอร์แก่รัฐบาลทั่วโลกกำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นหลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทไปละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ กรณีเมื่อปี ๒๕๕๙ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถูกตรวจสอบกรณีใช้ซอฟต์แวร์ Pegasus สอดแนมโทรศัพท์เคลื่อนที่ iPhone สอดแนมนาย Ahmed Mansoor นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน 

เหตุการณ์ที่รัฐบาลใช้ซอฟต์แวร์ Pegasus สอดแนมผู้เห็นต่างหรือผู้ลี้ภัยทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อกลางปี ๒๕๖๔ พบรายงานว่าซอฟต์แวร์ Pegasus ถูกใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประเทศตะวันตก ซึ่งเมื่อ พ.ย. ๖๔ บริษัท NSO Group ก็ถูกสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า และต่อมาเมื่อ ธ.ค. ๖๔ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ถูกสอดแนมจากซอฟต์แวร์ Pegasus ปัจจุบัน NSO Group ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัท Facebook และ Apple ซึ่งอาจทำให้บริษัท NSO Group สูญเสียความน่าเชื่อถือและเผชิญวิกฤติในอนาคต

เมื่อ ธ.ค. ๖๔ บริษัท Meta (Facebook) รายงานว่าพบบริษัทรับจ้างเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ๗ แห่งจากทั่วโลก โจมตีผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Facebook กว่า ๕๐,๐๐๐ ราย โดยเป็นบริษัทอิสราเอล ๔ แห่ง และบริษัท จีน อินเดีย และมาซิโดเนียเหนือตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าอุตสาหกรรมการเจาะระบบมีขนาดใหญ่

อุตสาหกรรมการจ้างแฮกเกอร์เจาะระบบคอมพิวเตอร์ขโมยข้อมูลได้ถูกเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนเมื่อ ๒๕๕๙ เมื่อบริษัท Hacking Team ของอิตาลีถูกตั้งข้อหากรณีจำหน่ายซอฟต์แวร์สอดแนมแบบไร้ร่องรอยให้หลายประเทศ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเป็นส่วนตัว จากกรณีดังกล่าวทำให้โลกรับรู้ว่ามีอุตสาหกรรมการซื้อขายซอฟต์แวร์เจาะระบบคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้บริษัท Hacking Team ไม่สามารถจำหน่ายซอฟต์แวร์แก่นานาชาติได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามบริษัท Hacking Team ถูกขายและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทใหม่ที่จำหน่ายซอฟต์แวร์เดิม

ผศ.ดร. James Shires สถาบันความมั่นคงและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัย Leiden ของเนเธอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่าการปิดกั้นบริษัท Hacking Team ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการจำหน่ายซอฟต์แวร์สอดแนม เนื่องจากความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์สอดแนมยังคงมีอยู่มาก

หลายประเทศจัดหาซอฟต์แวร์สอดแนมเพื่อเจาะระบบคอมพิวเตอร์ฝ่ายตรงข้ามทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลาดซอฟต์แวร์เพื่อการสอดแนมจึงมีมูลค่าสูงถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวกลับมีความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการสอดแนมน้อยมาก

ความต้องการด้านการพัฒนาศักยภาพไซเบอร์เชิงรุกในศตวรรษที่ ๒๑ เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป้าหมายที่สำคัญของรัฐบาลอยู่บนโลกออนไลน์ และการใช้เครื่องมือเจาะระบบเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมาย รัฐบาลหลายประเทศจึงลงทุนพัฒนาเครื่องมือสอดแนมของตนเอง หรือจัดหาซอฟต์แวร์สอดแนมจากต่างประเทศ ดังประเทศที่ร่ำรวยในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย

สัญญาการจัดจ้างพัฒนาและจำหน่ายเครื่องมือสอดแนมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซอฟต์แวร์เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการสืบสวนอาชญากรรมและต่อต้านการก่อการร้าย และเป็นเครื่องมือสำคัญในการจารกรรมข้อมูลและปฏิบัติการทางทหารต่อฝ่ายตรงข้าม

นางสาว Winnona DeSombre นักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ Atlantic Council ระบุว่าบริษัทรับจ้างเจาะระบบคอมพิวเตอร์ยังคงมีอยู่และเติบโตอย่างต่อเนื่องในห้วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันผู้คนใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกันมากขึ้น และ DeSombre ระบุว่ามีบริษัทจำหน่ายเครื่องมือตรวจตราทางดิจิทัลทั่วโลกหลายร้อยบริษัทที่ปรากฏอย่างเปิดเผย แต่อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทอีกจำนวนมากที่จำหน่ายเทคโนโลยีตรวจตราทางดิจิทัล ซึ่งมีบริษัทของชาวตะวันตกรวมอยู่ด้วย ประเด็นสำคัญ คือ กฎหมายของแต่ละประเทศที่อาจจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเครื่องมือเจาะระบบเหล่านี้หากนำไปจำหน่ายให้รัฐบาลต่างชาติก็อาจจะถูกประเทศที่จัดหาซอฟต์แวร์ดังกล่าวนำไปใช้ละเมิดสิทธิประชาชนของประเทศที่จำหน่ายซอฟต์แวร์มาด้วย

รัฐบาลทั่วโลกกำลังพยายามจำกัดผลกระทบจากอุตสาหกรรมการจำหน่ายซอฟต์แวร์เจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการแทรกแซง การฟ้องร้อง และการกำหนดกฎหมายการส่งออก แต่อย่างไรก็ตามความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง