สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อ ๑๓ มิ.ย. ๖๓ ว่า นายทอดด์ แชปแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำบราซิล ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเจรจากับรัฐบาลและบริษัทโทรคมนาคมของบราซิลในการที่สหรัฐฯ จะให้เงินทุนอุดหนุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ 5G ที่ผลิตโดยบริษัทอีริคสันของสวีเดนและบริษัทโนเกีย ของฟินแลนด์ แทนการใช้อุปกรณ์จากบริษัทหัวเว่ยของจีน โดยนายแชปแมนระบุว่า การอุดหนุนเงินดังกล่าวถือเป็นประเด็น “ความมั่นคงแห่งชาติ” ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะ “ปกป้องข้อมูล ทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลอ่อนไหวของประเทศ” ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทหัวเว่ยซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ได้วางรากฐานธุรกิจในบราซิลอย่างมั่นคงตั้งแต่ห้วงทศวรรษ ๒๐๐๐ และบริษัทหัวเว่ยได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบ 5G กับผู้ให้บริการหลักของบราซิล ๔ ราย ได้แก่ Telefonica Brasil SA, TIM Participacoes SA, America Movil's Claro และ Oi SA ทั้งยังได้ช่วยบริษัทดังกล่าวปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย นอกจากนี้ เมื่อ ส.ค. ๖๓ บริษัทหัวเว่ยได้ลงทุนมูลค่ากว่า ๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่รัฐเซาเปาโลของบราซิลภายในปี ๒๕๖๕ เพื่อเตรียมขยายตลาดโทรคมนาคมในภูมิภาคละตินอเมริกา แม้ว่าสหรัฐฯ จะคัดค้าน
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งบราซิลหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ยโดยอ้างข้อกังวลเกี่ยวกับการสอดแนม โดยนายแชปแมนอ้างว่าการให้บริษัทหัวเว่ยติดตั้งระบบ 5G ในบราซิลจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศซึ่งเกรงว่าจะข้อมูลจะไม่ได้รับการปกป้อง และว่าเงินอุดหนุนดังกล่าวจะได้รับการจัดสรรจาก International Development Finance Corporation ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ได้รับการผลักดันโดยประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อปลายปี ๒๕๖๑ เพื่อแข่งขันกับธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน