สำนักประชาสัมพันธ์ (Press Information Bureau-PIB) ของอินเดีย ออกแถลงการณ์เมื่อ 17 ต.ค.66 ถึงผลการประชุม จนท.ระดับสูงเพื่อประเมินความคืบหน้าของภารกิจกากันยาอัน (Gaganyaan Mission) และหารือแนวทางการสำรวจอวกาศของอินเดียในอนาคต โดยนายนเรนทรา โมดิ นรม.อินเดีย ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มอบนโยบายว่า อินเดียควรตั้งเป้าหมายการสำรวจอวกาศที่ท้าทายมากขึ้นหลังประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการด้านอวกาศหลายโครงการ รวมถึงการส่งยานอวกาศจันทรยาน-3 (Chandrayaan-3) ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อ ส.ค.66 และการปล่อยยานอวกาศอาทิตยา-แอล 1 (Aditya-L1) ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพื่อสำรวจดวงอาทิตย์เมื่อ ก.ย.66 จึงมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดตั้งสถานีอวกาศ Bharatiya Antariksha Station (Indian Space Station) ภายในปี 2578 และส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์เป็นคนแรกภายในปี 2583 ทั้งนี้ กรมอวกาศจะจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Roadmap) การสำรวจดวงจันทร์ เพื่อให้อินเดียสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมถึงภารกิจจันทรยาน (Chandrayaan Mission) การพัฒนาจรวดนำส่งรุ่นใหม่ (Next Generation Launch Vehicle-NGLV) การก่อสร้างฐานปล่อยจรวดใหม่ และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง