เว็บไซต์ข่าว Laotian Times รายงานเมื่อ 1 ก.ค.67 อ้างข้อมูลของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ลาว ว่า การใช้ไฟฟ้าของลาวเมื่อห้วงปี 2565-2567 เติบโตร้อยละ 45 หรือสูงกว่าการประเมินที่ร้อยละ 7 ต่อปี ส่วนใหญ่จากการขยายตัวของการทำเหมืองสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ผันผวนจากสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง สำหรับเมื่อห้วง ม.ค.-เม.ย.67 ลาวขาดดุลไฟฟ้าสุทธิ 827.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWH) โดยลาวส่งออกไฟฟ้า 994.8 ล้าน kWH ไปยังกัมพูชา เมียนมา และไทย และนำเข้าไฟฟ้า 1,822.6 ล้าน (kWH) จากไทย จีน และเวียดนาม ทั้งนี้ ลาวมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ได้แก่ ปรับการใช้ไฟฟ้าและเก็บภาษีเหมืองสกุลเงินดิจิทัลเพื่อลดการนำเข้า เร่งอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และหาเงินทุนก่อสร้างเขื่อนใหม่ เช่น โครงการน้ำงึม 3 ส่วนมาตรการระยะยาว ได้แก่ การใช้พลังงานที่หลากหลาย ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และพลังงานลม ในแขวงคำม่วน สะหวันนะเขต และเซกอง การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสายส่งไฟฟ้า การทบทวนสัญญาการส่งออกไฟฟ้าและปรับนโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะสัญญาสัมปทานโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่หมดอายุ